ใบขับขี่ตลอดชีพ เหตุผลที่เคยมีและยกเลิกการออกในอดีต
จากข่าวเรื่องกรมการขนส่งทางบกมีแนวคิดเรียกผู้ถือใบขับขี่ตลอดชีพมาทดสอบใหม่จนทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์มากมายในสังคมออนไลน์ทั้งที่เห็นด้วยและส่วนใหญ่ที่จะไปในทางไม่เห็นด้วย จนทำให้ทางกรมการขนส่งทางบกต้องออกมาแก้ข่าวว่าเป็นเพียงแค่แนวคิดเท่านั้น ยังไม่มีการกำหนดแนวทางอะไรออกมา และจะเป็นเพียงแค่การทดสอบสมรรถภาพความพร้อมทางร่างกายเท่านั้น ไม่ได้ให้สอบใบขับขี่ใหม่ อาจทำให้หลายๆ คนที่มีอายุไม่มากเห็นข่าวนี้แล้วเกิดความสงสัยว่า “มีด้วยเหรอใบขับชี่ตลอดชีพ?” เนื่องจากตั้งแต่เริ่มทำใบขับขี่มาก็เจอกับใบขับขี่ที่ต้องต่ออายุทุก 5 ปีแล้ว ลองมาทำความรู้จักกับใบขับขี่ตลอดชีพที่เคยมีในอดีตและยกเลิกการออกไปแล้วกันว่าเป็นอย่างไร ทำไมจึงมีใบขับขี่ลักษณะนี้แล้วทำไมจึงยกเลิก
ใบขับขี่ตลอดชีพ
ก่อนปี 2546 ที่เปลี่ยนมากำหนดให้ใบขับขี่มีอายุ 5 ปี ใบขับขี่ของประเทศไทยจะมี 3 แบบคือ ใบขับขี่ชั่วคราวซึ่งเป็นใบแรกที่ผู้ขับรถได้รับเมื่อสอบใบขับขี่ได้โดยมีอายุ 1 ปี จากนั้นเมื่อครบ 1 ปีก็จะต่ออายุได้ใบขับขี่บุคคลที่มีอายุ 1 ปีเช่นเดียวกัน และเมื่อครบ 1 ปีของใบขับขี่ใบที่ 2 นี้ ผู้ถือใบขับขี่สามารถเลือกได้ว่าจะต่ออายุใบขับขี่แบบ 1 ปี หรือแบบตลอดชีพ อย่างไรก็ตามใบขับขี่ตลอดชีพจะออกให้เฉพาะใบขับขี่รถยนต์ และใบขับขี่รถจักรยานยนต์ใช้ส่วนบุคคลเท่านั้น ไม่มีในใบขับขี่สาธารณะ
หากสงสัยว่าในเมื่อมีใบขับขี่ตลอดชีพให้ทำได้ ทำไมจึงต้องมีใบขับขี่แบบต่ออายุ 1 ปีให้เลือกทำด้วย เพราะน่าจะมีแต่คนทำใบขับขี่ตลอดชีพจะได้ไม่ต้องเสียเวลาไปต่ออายุใบขับขี่ทุกปี เหตุผลก็คือค่าธรรมเนียมในการทำใบขับขี่แบบ 1 ปีกับตลอดชีพต่างกันถึง 10 เท่า โดยใบขับขี่อายุ 1 ปีมีค่าทำอยู่ที่ 100 บาท ส่วนใบขับขี่ตลอดชีพมีค่าทำ 1,000 บาท ซึ่งไม่ใช่เงินจำนวนที่น้อยในอดีต
เหตุผลที่มีใบขับขี่ตลอดชีพ
สำหรับเหตุผลที่ในอดีตเคยมีการออกใบขับขี่ตลอดชีพให้ผู้ขับขี่รถอาจไม่ใช่เป็นการให้ความสะดวกแก่ผู้ถือที่ไม่ต้องเสียเวลาต่ออายุใบขับทุกปีเท่านั้น แต่ยังอาจมีสาเหตุมาจากต้องการลดความแออัดของผู้ที่มาต่ออายุใบขับขี่ที่กองทะเบียนกรมตำรวจซึ่งเป็นสถานที่ทำใบขับขี่ในอดีต ก่อนที่กรมการขนส่งทางบกจะเข้ามาดูแลเรื่องการทำใบขับขี่ภายหลังด้วย รวมไปถึงยังลดการทำงานของเจ้าหน้าที่เนื่องจากในอดีตเอกสารต่างๆ และต้นขั้วใบขับขี่ จะมีลักษณะเป็นกระดาษเก็บไว้ในแฟ้มทำให้ต้องเสียเวลาค้นหา ไม่ได้เก็บข้อมูลในคอมพิวเตอร์ให้ค้นดูได้สะดวกเหมือนปัจจุบัน
เหตุผลที่ยกเลิกการออกใบขับขี่ตลอดชีพ
อย่างไรก็ตามเมื่อปี 2546 ก็มีการยกเลิกการออกใบขับขี่ตลอดชีพ โดยออกมาเป็นพระราชบัญญัติรถยนต์ (ฉบับที่ 12) พ.ศ. 2546 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 28 กรกฏาคม 2546 ทำให้ไม่มีการออกใบขับขี่ส่วนบุคคลตลอดชีพตั้งแต่นั้นมา จึงทำให้ไม่แปลกที่หลายคนซึ่งเติบโตขึ้นมาและทำใบขับขี่หลังจากพ.ศ. 2546 หลายปี โดยที่ไม่มีพ่อแม่หรือญาติผู้ใหญ่ที่บ้านทำใบขับขี่ตลอดชีพ อาจไม่รู้ว่าเคยมีใบขับขี่ประเภทนี้อยู่จนกระทั่งมีข่าวกรมการขนส่งทางบกมีแนวคิดเรียกผู้ถือใบขับขี่ตลอดชีพกลับไปทดสอบใหม่
สำหรับการยกเลิกออกใบขับขี่ตลอดชีพโดยเปลี่ยนมาเป็นต่ออายุทุก 5 ปี ถูกอ้างว่าสามารถตรวจสอบคุณสมบัตอและลักษณะต้องห้ามของผู้ต่ออายุใบขับขี่ได้ว่า ยังมีความสามารถในการขับขี่อยู่หรือไม่ เพื่อเป็นการช่วยลดอุบัติเหตุบนถนนลงได้อีกทางหนึ่ง
อย่างไรก็ตามการยกเลิกออกไบขับขี่ตลอดชีพของกรมการขนส่งทางบก ไม่ใช่การยกเลิอกใบขับขี่ตลอดชีพ ดังนั้นผู้ถือใบขับขี่ตลอดชีพอยู่จึงยังคงใช้ได้ตามปกติ และเมื่อสูญหายหรือชำรุดก็สามารถทำใบใหม่ได้
เรื่อง: กองบรรณาธิการ
เรียบเรียงข้อมูลโดย GRANDPRIX ONLINE
ติดตามข่าวสาร ยานยนต์ รถจักรยานยนต์ รถใหม่ ได้ที่ www.grandprix.co.th